วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การบริหารจัดการสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในขณะเกิดเหตุอุทกภัย

การบริหารจัดการสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในขณะเกิดเหตุอุทกภัย

บทความส่วนนี้ น่าจะเหมาะสมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งเทศบาล หรือ อบต. ว่าควรจะมีการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นวิกฤตที่ทางเทศบาล หรือ อบต. เองจะต้องดำเนินการแก้ไขหลังน้ำลด ซึ่งในช่วงที่น้ำท่วมยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลงนั้น เทศบาล หรือ อบต. อาจจะต้องประสานงานกับชาวบ้าน หรือประชาชน ให้มีการแยกขยะที่มีกลิ่นเหม็น (ขยะอินทรีย์เศษอาหาร โฟมเลอะอาหาร) กับขยะที่ไม่มีกลิ่น (ขวดพลาสติก โลหะ กระป๋อง ฯลฯ) ออกจากกันก่อน สำหรับวิธีการจัดการคร่าว ๆ ได้กล่าวไปแล้ว ว่าควรจะต้องทำการมัดถุงพลาสติกดำให้แน่น โดยขยะอินทรีย์ส่วนใหญ่จะเริ่มส่งกลิ่นเหม็นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1-2 วัน ดังนั้น จึงควรผูกมัดถุงดำของท่านให้แน่น หากมีพื้นที่ใดในเทศบาล หมู่บ้าน อบต. ที่เป็นที่ว่างและน้ำท่วมไม่ถึง อาจดำเนินการนำไปกองสุมกันไว้ก่อน และเทศบาล อบต. ควรมีการฉีดพ่นด้วยคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ฆ่าหนอน แมลงวันต่าง ๆ ก่อนที่จะมัดปากถุงให้แน่น และอาจสามารถซ้อนถุงดำสองหรือสามชั้นได้ เนื่องจากป้องกันการรั่วซึมของน้ำชะขยะจากถุง หลังจากนั้นจึงรอให้เทศบาล อบต. มาเก็บขนในช่วงระดับน้ำทรงตัว หรือน้ำลดเพื่อนำไปกำจัดต่อไป

กรณีที่สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยน้ำท่วมไปแล้ว ทำอย่างไร
  1. เทศบาล / อบต. อาจประสานงานกับท้องถิ่นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยมากนัก และขอใช้สถานที่เป็นการชั่วคราว โดยอาจมีข้อตกลงในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการกำจัด หรือ การแลกการทิ้งกลับคืนหลังจากช่วงน้ำลดและได้ปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะของเทศบาล / อบต. ที่โดนน้ำท่วมไปแล้ว
  2. ใช้บริการเอกชน ที่รับกำจัดขยะมูลฝอยที่อยู่ใกล้เคียงกับเทศบาล อบต. นั้น ๆ
ในส่วนของการเก็บขนขยะมูลฝอย เทศบาล หรือ อบต. จะต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางในส่วนที่มีน้ำท่วมถึงระดับที่รถเก็บขนไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วย

สำหรับเทศบาล อบต. ที่รับขยะมูลฝอยจากเทศบาล หรือ อบต. อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เทศบาล หรือ อบต.เจ้าของพื้นที่ควรจะดำเนินการฉีดพ่นด้วยน้ำสกัดชีวภาพ หรือน้ำสกัดที่ป้องกันมิให้หนอนเติบโตเป็นแมลงวันทุกครั้งหลังจากเทขยะแล้ว แล้วกลบทับด้วยดินเป็นระยะ ไม่ควรใช้การเผาขยะมูลฝอย เนื่องจากขยะมูลฝอยดังกล่าวจะมีความชื้นสูง อาจก่อให้เกิดสารพิษไดออกซินที่ก่อให้เกิดมะเร็งในระยะยาว แยกขยะประเภทซากปรักหักพัง หรือเศษสิ่งก่อสร้าง (Construction and Demolition Waste) ออกมาต่างหาก ไม่ควรนำไปกำจัดในพื้นที่เดียวกัน

กรณีของการนำขยะมูลฝอยไปกำจัดในสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยแห่งอื่น เทศบาลที่เป็นเจ้าของสถานที่ฝังกลบขยะ อาจขอความร่วมมือเทศบาลหรือ อบต. ที่นำขยะเข้ามาทิ้งในช่วงน้ำท่วมในส่วนของเครื่องจักรกลและอุปกรณ์มาช่วยในการดำเนินงานชั่วคราว เนื่องจากปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น อาจจะต้องใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการหารือกันในส่วนการบริหารจัดการ อาทิ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการกำจัด เนื่องจากเจ้าของพื้นที่จำเป็นที่จะต้องแบกรับงบประมาณในการดำเนินการที่สูงขึ้น เพื่อจัดการขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพ หรือการแลกเปลี่ยนการกำจัดขยะในช่วงที่น้ำลดเป็นปกติต่อไป

การให้เอกชนที่รับกำจัดขยะมูลฝอยที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเทศบาล หรือ อบต. อาจนำไปพิจารณาได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น