วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อีกหนึ่งไอเดียสำหรับท้องถิ่น สำนักงานเขต หรือหน่วยงานที่่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บขยะมูลฝอยในช่วงน้ำท่วม

ในช่วงอุทกภัยนี้ ได้ติดตามข่าวสารการช่วยเหลือจากพี่น้องชาวไทยที่ให้มาอย่างไม่ขาดสาย รู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูก ถุงยังชีพที่มาจากเงินบริจาคของพี่น้องประชาชนชาวไทยในช่วงนี้ อาจจะเป็นสิ่งของที่มีค่ามากกว่าเงินทองหลายเท่าตัว โดยเฉพาะผู้ที่ติดอยู่ในบ้านซึ่งอยู่ในซอยลึก รถยนต์หรือเรือไม่สามารถเข้าถึงได้สะดวก ถุงยังชีพหนึ่งถุง สามารถประทังชีวิตครอบครัวเล็ก ๆ ได้แล้วอย่างน้อย 2-3 วัน อย่างไรก็ตามในช่วงนี้เอง บ้านของผู้เขียนก็ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมเช่นกัน ก็พยายามคิดอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ให้น้ำที่ท่วมอยู่นั้นเน่าเหม็น ดังนั้น ผู้เขียนเองได้พยายามรณรงค์มิให้ชุมชนแถวบ้านทิ้งขยะมูลฝอยลงในน้ำ เนื่องจากพบว่าขยะมูลฝอยที่อยู่ในน้ำเองจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้น้ำที่ขังอยู่เกิดการเน่าเหม็นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารอินทรีย์ต่าง ๆ จะสามารถละลายในน้ำแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ ซึ่งง่ายต่อการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในน้ำโดยอาศัยจุลิืนทรีย์ที่ใช้อากาศ (Aerobic Microorganisms) เมื่อออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (Dissolved Oxygen หรือ DO) หมดไป ก็จะเกิดกระบวนการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ (Anaerobic Decomposition) ซึ่งจะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นจากแก็สไข่เน่า (H2S) หรือสารอินทรีย์ของซัลไฟด์ (Mercaptans) ต่าง ๆ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงรู้สึกรังเกียจทันที ประกอบกับมีอยู่วันหนึ่งได้อ่านข่าวว่า รถเก็บขนขยะมูลฝอยของ กทม. ไม่สามารถเก็บขนขยะมูลฝอยได้ เนื่องจากน้ำท่วมสูง บางคันพยายามเข้าไปลุยน้ำสูงเพื่อเก็บขยะแถวบางพลัด ซึ่งสุดท้ายน้ำก็พลัดรถเหล่านั้นก็ทำให้รถเก็บขนเหล่านั้นชำรุดเสียหาย ใช้งานไม่ได้ และเสี่ยงต่อการที่เกิดน้ำชะมูลฝอยที่ถูกเก็บกักไว้ในช่องของรถเก็บขนขยะมูลฝอยรั่วไหลออกสู่แหล่งน้ำเหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกทางหนึ่ง

ผู้เขียนจึงได้คิดไว้ว่า ทำอย่างไรล่ะ ประชาชนถึงจะมีส่วนร่วมในการเก็บขนได้ด้วยตนเองได้มากขึ้น และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำถุงดำ (จากการรับบริจาคอีก) ใส่เข้าไปในถุงยังชีพที่แจกให้กับประชาชนสัก 2 ใบ แล้วดำเนินโครงการถุงดำใส่ขยะเต็มแล้วมัดให้เรียบร้อยเพื่อแลกถุงยังชีพ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกในการไม่ทิ้งขยะ ไม่ทิ้งกล่องโฟมบรรจุอาหารลงในแหล่งน้ำท่วมนั้น ๆ โดยรวบรวมขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งจากในบ้าน (และนอกบ้าน) ซึ่งจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็น อุดตันทางระบายน้ำ และคูคลองสาธารณะ ซึ่งเป็นภาระให้กับทางทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขุดลอก และทำความสะอาดทางระบายน้ำและคูคลองสาธารณะดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเป็นการลดภาระในการช่วยเก็บขยะมูลฝอยให้กับทางสำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง ซึ่งสำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องจัดหาพื้นที่สำหรับรวบรวมขยะมูลฝอยชั่วคราวก่อนที่จะขนส่งไปยังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยต่อไป

ในการแจกถุงยังชีพแลกกับถุงดำใส่ขยะเต็มนั้น จะต้องมีการประกาศประชาสัมพันธ์และแจ้งข่าวไปยังชุมชนก่อน อย่างน้อย 2-3 วัน (ตามปริมาณของที่อยู่ในถุงยังชีพนั้น ๆ ) หรือจำกัดว่าบ้านหนึ่งหลังจะได้ถุงยังชีพไม่เกิน 1-2 ถุง (แล้วแต่จำนวนสมาชิกที่อาศัยอยู่) โดยที่ผู้นำชุมชนหรือประชาชนอาจจะมีส่วนร่วมในการเก็บขยะมูลฝอยตามคูคลองสาธารณะร่วมด้วย เรือหรือรถที่แจกถุงยังชีพควรจะแยกต่างหากกับเรือหรือรถที่บรรทุกถุงดำใส่ขยะเหล่านี้ด้วย ส่วนขยะที่อยู่ในถุงดำนั้น อาจประสานให้ประชาชนที่รวบรวมขยะมูลฝอยได้โรยปูนขาวเพื่อดับกลิ่นสักเล็กน้อยหากมี ก็ยังได้ (ในกรณีที่เก็บขยะมูลฝอยอินทรีย์ ณ ที่บ้านนานเกิน 3 วัน) สำหรับกล่องโฟมที่บรรจุอาหารที่หน่วยงานกุศลต่าง ๆ ได้ร่วมกันช่วยเหลือประชาชน เช่น ช่อง 3 ฯลฯ อยากให้แจกถุงดำหรือถุงพลาสติกสำหรับบรรจุขยะกล่องโฟมพวกนี้เพื่อง่ายที่จะนำไปจัดการต่อด้วยอีกทางหนึ่ง

สิ่งที่จะได้จากการนำขยะมูลฝอยต่าง ๆ บรรจุถุงดำที่อยู่ในถุงยังชีพนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้น้ำที่ท่วมขังอยู่ไม่เน่าเสีย กล่องโฟม หรือสิ่งของที่ได้รับแจกไม่ลอยไม่อุดตันทางเดินของน้ำหรือคูคลองต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการระบายน้ำในภาพรวมแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนไม่ให้ทิ้งขยะลงในคูคลอง และเป็นการลดภาระการเก็บขนขยะมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย อย่างน้อยก็คนละครึ่งทางเมื่อเราได้รับของที่ผู้ใจบุญร่วมบริจาคมา ก็ช่วยเก็บกวาดและคืนของเหล่านั้นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยด้วย อย่าทิ้งลงในธรรมชาติเลยนะครับไม่งั้นสุดท้ายธรรมชาติก็จะเอาคืนอีกครั้ง

ปล. อยากให้ไอเดียนี้ออกช่อง 3 หรือให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำเอาไปใช้ต่อไปด้วยนะครับ

ใครก็ตามที่บ้านน้ำลดแล้ว มีคู่มือตรวจสอบบ้านหลังน้ำลดของ อาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ ซึ่งได้รับเป็นฟอร์เวิร์ดอีเมลล์มา อ่านแล้ว มีประโยชน์อย่างยิ่งนะครับ ก็ขออนุญาตอาจารย์เอามาแชร์เพื่อเป็นสิ่งดี ๆ ให้กับหลาย ๆ คนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปครับ ดาวน์โหลดได้โดย copy URL ข้างล่างนี้ไปแปะเลยครับ

http://www.mediafire.com/?nfn36hy20qkf46q 

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น้ำเน่า น้ำเหม็น ลองหาวิธีแก้ไขโดยไม่ต้องพึ่งน้ำสกัดชีวภาพ

น้ำเน่า น้ำเหม็น ในช่วงมหาอุทกภัยน้ำขัง เหม็นจัง ทำยังไงโดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำสกัดชีวภาพ

ณ วันนี้ สถานการณ์น้ำท่วมของบ้านผู้เขียน ก็คงใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว แต่ก็ไม่ได้วิตกอะไร อยากให้ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป อย่างน้อย ก็ยังคงมีแง่ดีให้มอง ก็คือ เราก็คงไม่ได้ท่วมหัวเหมือนประชาชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ชาวบ้านท่าวุ้ง แถว ๆ บางปะหัน ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา หรือแม้กระทั่งแรงงานในนิคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิคมสหรัตนนคร โรจนะ บ้านหว้า นวนคร บางกระดี ที่เขาท่วมกัน 3-4 เมตร เปิดใจให้กว้างนะครับ อย่างน้อยคนกรุงเทพเรายังโชคดีกว่าเขา แต่อาจจะมีโชคร้ายกว่าเขาตรงที่ว่าน้ำอาจจะระบายออกช้า เนื่องจากสภาพภูมิประเทศนะครับ

ในช่วงของการระบายของน้ำออกช้า แน่นอน ว่าย่อมเกิดการเน่าเสีย และส่งกลิ่นเหม็น บางแห่งก็ได้ข่าวว่าน้ำที่ไหลเข้ามา มีสีดำสนิท กลิ่นเหมือนส้วมแตกเลย บางแห่งกลิ่นเหม็นเปรี้ยวมาแต่ไกล หลาย ๆ คนคงมองหาเจ้าลูกบอลก้อนที่ไว้ใช้โยนเมื่อน้ำเน่าเสีย แต่หากไม่มีละ ทำไง

จากที่ผู้เขียนเองได้ร่ำเรียนวิชามาทางสายวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ก็พอจะมีความรู้พื้นฐานทางเคมีและจุลชีววิทยากับเขาอยู่บ้าง ก็พอจะทราบว่าจุลินทรีย์ในน้ำเสียที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นจะเป็นพวกที่ไม่ใช้อากาศ (Anaerobes) เสียเป็นส่วนใหญ่ พูดกันภาษาง่าย ๆ ก็คือจุลินทรีย์กลุ่มนี้ จะใช้ออกซิเจนในการหายใจของเขาจากแก็สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ที่มันดันไปละลายอยู่ในน้ำ พอจุลินทรีย์เหล่านี้ใช้แก็สที่ละลายน้ำเหล่านี้ ก็คงเหมือนคนเราที่ต้องหายใจออกมาเป็นแก็สที่ไม่ต้องการ (เช่น หายใจเอาออกซิเจนเข้าไป แล้วคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา) เช่น มีเธน (CH4) แอมโมเนีย (NH3) และแก็สไข่เน่า (H2S) ซึ่งในสิ่งที่จุลินทรีย์หายใจออกมานั้น จะไม่มีออกซิเจนอยู่มากสักเท่าไหร่ และแก็สที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นก็คือแก็สไข่เน่า (H2S) นั่นแหละครับ ยังไงก็ตาม แก็สไข่เน่าพวกนี้ เวลาละลายน้ำ ก็จะเกิดปฏิกิริยาการแตกตัวได้เป็นกลุ่มไฮโดรเนียมไอออน (H3O+) กับไฮโดรเจนซัลไฟด์ไอออน (HS-) โดยจะทำให้ pH ต่ำลง หรือค่าความเป็นกรดของน้ำสูงขึ้น ดังสมการ

H2S + H2O <=> H3O+ + HS-

จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้อากาศ หรือ กลุ่มที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นนั้น มีอัตราการเติบโตจำเพาะ (Specific Growth Rate) ค่อนข้างช้าพอสมควร ก็เลยทำให้ในสภาวะปกติที่มีออกซิเจนจะเติบโตสู้จุลินทรีย์แบบที่ใช้อากาศ (Aerobes) ไม่ได้ เนื่องจากจุลินทรีย์แบบใช้อากาศมีอัตราการเติบโตจำเพาะมากกว่า ก็จะทำให้สภาวะปกติ เราจะไม่ได้กลิ่นเหม็นของน้ำเสีย แต่เมื่อไหร่ก็ตาม หากในสภาวะที่ไม่ปกติ เช่น ออกซิเจนในน้ำเริ่มหมดไป จุลินทรีย์แบบใช้อากาศก็จะเริ่มตายไป ทำให้จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้อากาศเติบโตมาแทนที่ ซึ่งก็จะผลิตแก็สไข่เน่าออกมามากมาย ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น เพราะว่าตัว HS- ที่แตกออกมานั้น สามารถที่จะไปจับกับสารอินทรีย์ในน้ำเกิดเป็นสารสีดำมีกลิ่นรุนแรงที่เราเรียกกันว่าเมอร์แคปแทน (Mercaptans) ทำให้คนเราที่อยู่ในบริเวณที่น้ำขังนาน ๆ จะรู้สึกว่ากลิ่นน้ำเหม็นเน่ารุนแรงมาก

แล้วจะแก้ไขอย่างไร?

จุลินทรีย์ในกลุ่มที่ไม่ใช้อากาศ โดยปกติแล้วอัตราการเติบโตจำเพาะจะต่ำกว่าจุลินทรีย์ในกลุ่มที่ใช้อากาศ ดังนั้น กลุ่มที่ไม่ใช้อากาศที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นจะมีความตื่นตัว (Activity) ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ดังนั้น จะสังเกตได้ว่า การผันน้ำ น้ำที่มีการไหลตลอดเวลา จะไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็นสักเท่าไหร่ ดังนั้น การแก้ไขอย่างแรก คือ ควรจะหาทางเปิดทางเดินน้ำให้มีการไหลเข้า-ออกตลอดเวลา ทำให้น้ำมีการเคลื่อนที่ อย่าให้น้ำเกิดการหยุดนิ่งเป็นอย่างแรก เช่น การใช้เครื่องสูบน้ำ สูบน้ำออก (ต่อให้มีน้ำที่มีกลิ่นไหลเข้ามาอีกก็เหอะ) เพราะอย่างน้อย จะเกิดการหมุนเวียน และน้ำจะมีการถ่ายเทออกซิเจนจากการสัมผัสกับอากาศในสภาวะที่น้ำมีความปั่นป่วนมากขึ้น นี่คือหนทางแรกที่ได้มาจากการประยุกต์จากวิชาจุลชีววิทยาที่ได้เรียนมา

สำหรับวิชาเคมีที่เรียนมา ผู้เขียนก็ได้พบทางแก้ไขอย่างที่สองว่า ในวิชาสมดุลเคมี หากเราเติมด่างลงในน้ำ (เช่น ปูนขาว น้ำขี้เถ้า กลุ่มปูนทั้งหลาย ปูนอะไรก็ได้ หรือแม้แต่โซดาไฟ แต่อันนี้คงรุนแรงไป) จะทำให้ H3O+ ลดลง (จากสมการเคมีข้างบน) ซึ่งหากใครเรียนสมดุลเคมี ม.ปลาย แล้วจะพบว่า จะส่งผลให้แก็สไข่เน่า (H2S) ก็ย่อมลดลงด้วย  เมื่อ H2S ลดลง กลิ่นเหม็นก็ลดลง แต่ไม่ควรเติมมากจนเกินไป และเมื่อเติมแล้ว ควรมีการกวนแบบปั่นป่วนด้วย เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาได้ดีขึ้น 

นอกจากนี้ในปฏิกิริยาชีวเคมีแบบไม่ใช้อากาศ จุลินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศจะทำให้เกิดกรดอินทรีย์โมเลกุลสั้น (เช่น กรดน้ำส้ม) ซึ่งจะทำให้เราได้กลิ่นเปรี้ยวเน่าเมื่อน้ำเหม็นสุด ๆ จุลินทรีย์เหล่านี้ ชอบสภาวะที่เป็นกรดอ่อน ๆ มาก ดังนั้น เราจะต้องทำลายจุลินทรีย์เหล่านี้ โดยการเติมด่างเข้าไป เมื่อสภาพของน้ำมีสภาพเป็นด่างอ่อน ๆ แล้ว จุลินทรีย์ที่สร้างกรดเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถเติบโตได้ในสภาวะนี้ เป็นการลดกลิ่นเหม็นอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปูนขาว ดูเหมือนว่าจะเวิร์คสำหรับพื้นที่ที่มีขนาดไม่ใหญ่ พื้นที่ปิดที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรงและน้ำท่วมไม่สูงมากนัก สำหรับถนนที่แปรสภาพเป็นคลองแล้ว ก็ไม่แนะนำวิธีนี้สักเท่าไหร่นะครับ เพราะคงเปลืองปูนในการละลายแม่น้ำน่าดูเหมือนกัน

สำหรับการแก้ไขอย่างที่สาม จะต้องกำจัดไข ฝ้า คราบน้ำมัน ตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณมุมขอบบ้านหรือมุมอับอื่น ๆ ควรมีการกวาดออกไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไข ฝ้า คราบน้ำมันดังกล่าว จะเป็นตัวที่บล๊อกการถ่ายเทของออกซิเจนในน้ำด้วย การกวาด บางคนอาจคิดว่าเป็นการทำให้น้ำเหม็นขึ้น ก็คงจะจริงในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเรากำจัดไข ฝ้า คราบน้ำมัน และเติมออกซิเจนให้กับน้ำได้ ความเหม็นคงจะเริ่มเบาบางลง

สำหรับกรณีที่มีบางคนคงสงสัยว่า การเติมด่างลงไป มีผลอะไรกับแหล่งน้ำธรรมชาติไหม ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีผลมากอะไร เพราะว่าด่างที่เติม ก็ไม่ควรเติมแบบเข้มข้นลงไปในครั้งเดียว ควรค่อย ๆ เติมแบบเจือจางลงไป กวนผสมให้ทั่วกันแล้วทิ้งไว้สักพัก นอกจากนี้ ปกติแล้วแหล่งน้ำธรรมชาติมีความสามารถในการปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง (Buffering Capacity) อยู่แล้ว เนื่องจากมีแร่ธาตุจำพวกไบคาร์บอเนต กับ คาร์บอเนต ที่ละลายในน้ำ ตามปฏิกิริยา

H2O + CO2 <=> HCO3- + H+ <=> 2H+ + CO3 2-

ที่สำคัญ ต้องคิดบวก และอยู่กับน้ำให้ได้นะครับ

หมายเหตุ: สำหรับทุ่งนา หรือพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่ที่เน่าเหม็น แนะนำให้ติดตั้งเครื่องเติมอากาศแบบประหยัดพลังงาน หรือ การเติมน้ำเข้าเพื่อไล่น้ำเน่าเก่าออก แล้วปล่อยให้ธรรมชาติบำบัด น่าจะดีกว่านะครับ เพราะคงเป็นการยากที่จะมานั่งปรับ pH ทุ่งนาทั้งหมด และบางแห่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพดินหลังน้ำลดด้วย ดังนั้น คิดว่าใช้วิธีเติมน้ำเข้าไล่น้ำเก่าออก หรือติดตั้งเครื่องเติมอากาศแบบประหยัดพลังงานดีกว่านะครับ

ปล. ไม่รู้ว่าอีกหน่อยจะมีการประดิษฐ์เรือถีบเติมอากาศกรณีที่น้ำท่วมด้วยหรือเปล่า อย่างน้อย ก็สามารถใช้เดินทาง ออกกำลังกาย และช่วยเติมออกซิเจนในน้ำท่วมที่เน่าเสียได้ด้วยอีกทางหนึ่ง

อนึ่ง วิธีนี้ ไม่ใช่วิธีการบำบัดน้ำเสียนะครับ เป็นวิธีการลดกลิ่นแบบชั่วคราวเท่านั้น !!

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การบริหารจัดการสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในขณะเกิดเหตุอุทกภัย

การบริหารจัดการสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในขณะเกิดเหตุอุทกภัย

บทความส่วนนี้ น่าจะเหมาะสมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งเทศบาล หรือ อบต. ว่าควรจะมีการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นวิกฤตที่ทางเทศบาล หรือ อบต. เองจะต้องดำเนินการแก้ไขหลังน้ำลด ซึ่งในช่วงที่น้ำท่วมยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลงนั้น เทศบาล หรือ อบต. อาจจะต้องประสานงานกับชาวบ้าน หรือประชาชน ให้มีการแยกขยะที่มีกลิ่นเหม็น (ขยะอินทรีย์เศษอาหาร โฟมเลอะอาหาร) กับขยะที่ไม่มีกลิ่น (ขวดพลาสติก โลหะ กระป๋อง ฯลฯ) ออกจากกันก่อน สำหรับวิธีการจัดการคร่าว ๆ ได้กล่าวไปแล้ว ว่าควรจะต้องทำการมัดถุงพลาสติกดำให้แน่น โดยขยะอินทรีย์ส่วนใหญ่จะเริ่มส่งกลิ่นเหม็นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1-2 วัน ดังนั้น จึงควรผูกมัดถุงดำของท่านให้แน่น หากมีพื้นที่ใดในเทศบาล หมู่บ้าน อบต. ที่เป็นที่ว่างและน้ำท่วมไม่ถึง อาจดำเนินการนำไปกองสุมกันไว้ก่อน และเทศบาล อบต. ควรมีการฉีดพ่นด้วยคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ฆ่าหนอน แมลงวันต่าง ๆ ก่อนที่จะมัดปากถุงให้แน่น และอาจสามารถซ้อนถุงดำสองหรือสามชั้นได้ เนื่องจากป้องกันการรั่วซึมของน้ำชะขยะจากถุง หลังจากนั้นจึงรอให้เทศบาล อบต. มาเก็บขนในช่วงระดับน้ำทรงตัว หรือน้ำลดเพื่อนำไปกำจัดต่อไป

กรณีที่สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยน้ำท่วมไปแล้ว ทำอย่างไร
  1. เทศบาล / อบต. อาจประสานงานกับท้องถิ่นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยมากนัก และขอใช้สถานที่เป็นการชั่วคราว โดยอาจมีข้อตกลงในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการกำจัด หรือ การแลกการทิ้งกลับคืนหลังจากช่วงน้ำลดและได้ปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะของเทศบาล / อบต. ที่โดนน้ำท่วมไปแล้ว
  2. ใช้บริการเอกชน ที่รับกำจัดขยะมูลฝอยที่อยู่ใกล้เคียงกับเทศบาล อบต. นั้น ๆ
ในส่วนของการเก็บขนขยะมูลฝอย เทศบาล หรือ อบต. จะต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางในส่วนที่มีน้ำท่วมถึงระดับที่รถเก็บขนไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วย

สำหรับเทศบาล อบต. ที่รับขยะมูลฝอยจากเทศบาล หรือ อบต. อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เทศบาล หรือ อบต.เจ้าของพื้นที่ควรจะดำเนินการฉีดพ่นด้วยน้ำสกัดชีวภาพ หรือน้ำสกัดที่ป้องกันมิให้หนอนเติบโตเป็นแมลงวันทุกครั้งหลังจากเทขยะแล้ว แล้วกลบทับด้วยดินเป็นระยะ ไม่ควรใช้การเผาขยะมูลฝอย เนื่องจากขยะมูลฝอยดังกล่าวจะมีความชื้นสูง อาจก่อให้เกิดสารพิษไดออกซินที่ก่อให้เกิดมะเร็งในระยะยาว แยกขยะประเภทซากปรักหักพัง หรือเศษสิ่งก่อสร้าง (Construction and Demolition Waste) ออกมาต่างหาก ไม่ควรนำไปกำจัดในพื้นที่เดียวกัน

กรณีของการนำขยะมูลฝอยไปกำจัดในสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยแห่งอื่น เทศบาลที่เป็นเจ้าของสถานที่ฝังกลบขยะ อาจขอความร่วมมือเทศบาลหรือ อบต. ที่นำขยะเข้ามาทิ้งในช่วงน้ำท่วมในส่วนของเครื่องจักรกลและอุปกรณ์มาช่วยในการดำเนินงานชั่วคราว เนื่องจากปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น อาจจะต้องใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการหารือกันในส่วนการบริหารจัดการ อาทิ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการกำจัด เนื่องจากเจ้าของพื้นที่จำเป็นที่จะต้องแบกรับงบประมาณในการดำเนินการที่สูงขึ้น เพื่อจัดการขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพ หรือการแลกเปลี่ยนการกำจัดขยะในช่วงที่น้ำลดเป็นปกติต่อไป

การให้เอกชนที่รับกำจัดขยะมูลฝอยที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเทศบาล หรือ อบต. อาจนำไปพิจารณาได้เช่นกัน

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จัดการขยะในสภาวะน้ำท่วมกันอย่างไรดี

การจัดการขยะในสภาวะน้ำท่วม เราจะทำกันอย่างไรดี

ก่อนอื่น ต้องบอกกล่าวไว้ก่อนว่าในสภาพน้ำท่วม คงเป็นเรื่องยากในการจัดการขยะ เนื่องจากหลายแห่งรถเก็บขนขยะมูลฝอยก็ไม่สามารถเข้าถึงได้บ้าง การที่จะเอาเรือเพื่อไปขนขยะมูลฝอย ณ ช่วงเวลานี้ คงลำบาก เนื่องจากเรือเป็นสิ่งจำเป็นมากสิ่งหนึ่งสำหรับการช่วยเหลือผู้คนในช่วงน้ำท่วมดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุอุทกภัยแล้ว อาจพบว่าสถานที่กำจัดขยะถูกน้ำท่วมบ้าง หลาย ๆ คนที่ประสบเหตุอุทกภัยก็ไปอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้าง วินาทีนี้ เป็นวินาทีที่ทราบทันทีว่าหลายคนคงไม่มีกระจิตกระใจที่จะไปทำอะไรทั้งสิ้น เทศบาลหรือ อบต.เอง ก็คงวุ่นวายกับการสูบน้ำทิ้ง ทำพนังหรือแนวป้องกันมิให้น้ำท่วมพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอุทกภัยปี 54 ซึ่งจะเรียกได้ว่าประสบกันอย่างทั่วหน้า

สำหรับสถานที่ฝังกลบขยะที่ถูกน้ำท่วมไป คงจะไปทำอะไรมากได้ลำบาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างจากชุมชนพอสมควร สิ่งที่สามารถทำได้คือสร้างรั้วและทำแนวป้องกันมิให้ขยะมูลฝอยลอยออกสู่นอกพื้นที่สร้างความเดือดร้อนและสกปรกให้กับประชาชน โดย
  1. ปกติแล้วบ่อฝังกลบพวกนี้ จะมีคันดินล้อมรอบ ซึ่งจะป้องกันมิให้ขยะปลิวหรือลอยออกนอกพื้นที่ได้อยู่แล้วในตัว และหาก site ขยะไม่ใหญ่มาก ให้เอาเสาปักรอบพื้นที่ หรืออาจใช้รั้วที่มีอยู่เดิม ขึงแผ่นตาข่าย หรือ slant สัก 2-3 ชั้น ให้มีความสูงพอประมาณ ด้านล่างให้เอาอิฐบล๊อก (ไม่ควรใช้อิฐมอญ) หรือหินวางทับแผ่นตาข่าย หรือ slant ดังกล่าวเพื่อมิให้น้ำสามารถพัดขยะลอยออกสู่นอกพื้นที่เพิ่มเติม และควรเพิ่มความหนาของแผ่น slant ในทิศทางท้ายน้ำ และเหนือน้ำ หรือในบริเวณที่มีกระแสน้ำหมุนวน
  2. หาก site ขยะมีขนาดใหญ่ เทศบาลหรือ อบต. ควรมีการเตรียมการทำแนวคันดินล้อมรอบพื้นที่ป้องกันไว้ก่อน ที่จะเกิดน้ำท่วม หากพบว่าบริเวณนี้มีการเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก โดยควรทำให้สูงกว่าระดับที่เคยเกิดน้ำท่วมสูงสุดอย่างน้อยครึ่งเมตร ปลูกต้นไม้ที่มีใบหนา โตเร็ว โดยรอบ เนื่องจากใบไม้และกิ่งก้านสาขาจะช่วยดักขยะได้อีกทางหนึ่ง
  3. ดินในพื้นที่ขณะเกิดเหตุน้ำท่วมจะมีลักษณะค่อนข้างอ่อน มีน้ำอยู่ในโครงสร้างเนื้อดินปริมาณมาก ดังนั้นควรระมัดระวังหากจะนำดินที่ถูกน้ำท่วมมาก่อสร้างคันดินล้อมรอบพื้นที่ในขณะเกิดเหตุน้ำท่วม
  4. กรณีที่มีน้ำท่วมขัง อาจใช้น้ำสกัดชีวภาพฉีดพ่นได้ (แต่ไม่ควรใช้ลักษณะลูกบอลโยนลงไป) เป็นครั้งคราว กรณีที่น้ำขังจนมีสีดำสนิท ไม่สามารถดับกลิ่นได้ อาจจะต้องใช้วิธีการผันน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเจือจางได้เป็นกรณีไปหากจำเป็นจริง ๆ แต่ในกรณีปกติ ให้สูบเข้าบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่เพื่อบำบัดต่อไป (ส่วนน้ำในบ่อบำบัดน้ำเสียเดิม ส่วนใหญ่จะโดนน้ำท่วมก่อนหน้าบ่อฝังกลบขยะ ซึ่งจะมีความเจือจาง สามารถระบายทิ้งได้กรณีฉุกเฉินนี้ แล้วจึงสูบน้ำในบ่อขยะเข้าไปบำบัดในบ่อบำบัดน้ำเสียต่อไป)
  5. เทศบาลหรือ อบต. ควรสำรองเครื่องสูบหัวพญานาคไว้เป็นการชั่วคราวด้วย กรณีที่ปั๊มสูบน้ำใต้ดินเสียหายจากเหตุน้ำท่วม
  6. กลิ่นเหม็นของบ่อฝังกลบ จะต้องพิจารณาจากกลิ่นด้วยว่ากลิ่นดังกล่าว เหม็นเน่า เหม็นเปรี้ยว หรือเหม็นแบบใด เหม็นเน่า อาจจะฉีดพ่นน้ำสกัดชีวภาพได้ เหม็นเปรี้ยว จำเป็นต้องปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง เป็นต้น
กรณีเป็นพื้นที่ที่เทกองหรือกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องล่ะ ทำอย่างไร

การแก้ไขปัญหาชั่วคราว คงจะต้องดูเป็นกรณีไปว่าพื้นที่ทิ้งขยะที่ว่านั้น มีลักษณะอย่างไร หากพื้นที่ดังกล่าวเป็นลักษณะของการลักลอบทิ้ง เป็นกองขยะไม่ใหญ่มาก (ขนาดไม่ควรเกิน 2 ไร่) และความสูงไม่มาก คงจัดการได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากมีโอกาสถูกพัดกระจายค่อนข้างสูง ทางที่ดีควรดำเนินการตามข้อ 1 นั่นคือ ต้องตั้งเสา หรือเอารั้วที่มีอยู่ แล้วขึงตาข่าย หรือแผ่น slant หลายชั้นให้มีความหนาเพียงพอ เพื่อดักขยะมูลฝอยเหล่านี้ให้อยู่ภายในบริเวณสถานที่กำจัด

แล้วหากเป็นพื้นที่กำจัดแบบเทกองขนาดใหญ่ ทำไงดี อืมม์... อันนี้ยาก สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเลย คือ เทศบาลหรือ อบต. จะต้องเตรียมตัวก่อน จำเป็นต้องมีการก่อสร้างแนวคันดินรอบพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดอย่างน้อยเมตรนึง ส่วนปัญหาของมลพิษที่จะเกิดขึ้น มีแน่นอนในส่วนของน้ำผิวดินที่จะเอ่อล้นออกไปนอกพื้นที่ เนื่องจากปริมาณของขยะมูลฝอยที่มีอยู่ น้ำใต้ดินคงไม่ต้องพูดถึงเพราะมีแน่นอน เพราะว่าไม่มีการปูพื้นที่กำจัดด้วยแผ่นพลาสติก กรณีนี้ คงต้องว่ากันในส่วนของวิชาการกันอีกยากไกลว่าด้วยเรื่องการปนเปื้อนและการฟื้นฟูพื้นที่ให้เหมือนเดิม ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ส่วนการปรับปรุงพื้นที่ คงทำได้ยาก เพราะไม่ควรดำเนินการแบบเทกองอีกต่อไป

การจัดการขยะมูลฝอยในช่วงน้ำท่วม ตามศูนย์พักพิง กรณีศูนย์พักพิงอยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมเช่นกัน ทำอย่างไร
  1. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดระเบียบ เพื่อให้ผู้ที่พักอาศัยชั่วคราวตามศูนย์พักพิง แยกขยะที่เกิดขึ้น เนื่องจากว่าในกรณีน้ำท่วมนี้ การเก็บขนขยะมูลฝอยกระทำได้อย่างค่อนข้างลำบาก จำเป็นต้องมีการคัดแยกขยะเหล่านี้ออกอย่างเหมาะสม ขยะอินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ควรแยกออกมาใส่ถุงต่างหาก
  2. หากมีพื้นที่กว้างขวางพอ อาจหมักปุ๋ยในระบบปิด (ถังปิด) ได้ (โดยการเติมน้ำสกัดชีวภาพเข้าไปช่วยดับกลิ่น) และเปิดถัง กลับขยะมูลฝอยเป็นครั้งคราว ควรหมักขยะวันต่อวัน ไม่ควรทิ้งขยะอินทรีย์ลงในถังหมักขยะอินทรีย์ทุกวัน เนื่องจากจะไม่เกิดการหมักอย่างสมบูรณ์
  3. หากมีพื้นที่ไม่เพียงพอ สำหรับขยะอินทรีย์ ให้เก็บใส่ถุงดำแต่ละวัน และต้องออกห่างจากครัว ที่นอน ให้มากที่สุด พ่นน้ำยาคลอรีน โดยผสมจากผงปูนคลอรีน (Ca(OCl)2) หรือแคลเซียมไฮโปคลอไรต์ชนิด 60% โดยใช้สัดส่วนน้ำ (จากน้ำท่วม) 1 ลูกบาศก์เมตร และผงปูนคลอรีนประมาณ 4-5 กรัม ฉีดพ่น (อาจใช้ขวดฟ๊อกกี้หากมีปริมาณขยะไม่มาก โดยจะต้องระวังละอองคลอรีนเข้าตาขณะพ่นด้วย และล้างมือทุกครั้ง) ในถุงขยะอินทรีย์ให้ทั่วเพื่อป้องกันหนอน แมลงวัน ที่จะมารบกวน แล้วผูกถุงดำดังกล่าวให้แน่นและมิดชิด ซ้อนกันประมาณ 3 ชั้น วางบนภาชนะหนาอีกชั้นหนึ่ง เพราะจะมีน้ำชะขยะไหลซึมลงมาอยู่ด้านล่างของถุงดำ รอเทศบาลหรือ อบต. เข้ามานำไปจัดการต่อไป
  4. ขยะอื่น ๆ พวกโฟม ถุงพลาสติก ควรแยกต่างหาก โฟม หรือภาชนะที่บรรจุอาหารที่มีกลิ่นเหม็น มีไขมัน ควรแยกถุงบรรจุต่างหาก และทำการฉีดพ่นคลอรีนเหมือนขยะอินทรีย์ มัดถุงดังกล่าวให้แน่น รอนำไปกำจัดต่อไป ส่วนขวดน้ำพลาสติก ควรแยกต่างหาก โดยอาจนำไปแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ชูชีพแบบประยุกต์ หรืออย่างอื่นที่อาจเป็นประโยชน์ต่อไปได้
สำหรับการกำจัดขยะหลังน้ำลด ทำอย่างไร (โปรดติดตามตอนต่อไป)