วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อีกหนึ่งไอเดียสำหรับท้องถิ่น สำนักงานเขต หรือหน่วยงานที่่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บขยะมูลฝอยในช่วงน้ำท่วม

ในช่วงอุทกภัยนี้ ได้ติดตามข่าวสารการช่วยเหลือจากพี่น้องชาวไทยที่ให้มาอย่างไม่ขาดสาย รู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างบอกไม่ถูก ถุงยังชีพที่มาจากเงินบริจาคของพี่น้องประชาชนชาวไทยในช่วงนี้ อาจจะเป็นสิ่งของที่มีค่ามากกว่าเงินทองหลายเท่าตัว โดยเฉพาะผู้ที่ติดอยู่ในบ้านซึ่งอยู่ในซอยลึก รถยนต์หรือเรือไม่สามารถเข้าถึงได้สะดวก ถุงยังชีพหนึ่งถุง สามารถประทังชีวิตครอบครัวเล็ก ๆ ได้แล้วอย่างน้อย 2-3 วัน อย่างไรก็ตามในช่วงนี้เอง บ้านของผู้เขียนก็ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมเช่นกัน ก็พยายามคิดอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ให้น้ำที่ท่วมอยู่นั้นเน่าเหม็น ดังนั้น ผู้เขียนเองได้พยายามรณรงค์มิให้ชุมชนแถวบ้านทิ้งขยะมูลฝอยลงในน้ำ เนื่องจากพบว่าขยะมูลฝอยที่อยู่ในน้ำเองจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้น้ำที่ขังอยู่เกิดการเน่าเหม็นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารอินทรีย์ต่าง ๆ จะสามารถละลายในน้ำแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ ซึ่งง่ายต่อการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในน้ำโดยอาศัยจุลิืนทรีย์ที่ใช้อากาศ (Aerobic Microorganisms) เมื่อออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (Dissolved Oxygen หรือ DO) หมดไป ก็จะเกิดกระบวนการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ (Anaerobic Decomposition) ซึ่งจะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นจากแก็สไข่เน่า (H2S) หรือสารอินทรีย์ของซัลไฟด์ (Mercaptans) ต่าง ๆ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงรู้สึกรังเกียจทันที ประกอบกับมีอยู่วันหนึ่งได้อ่านข่าวว่า รถเก็บขนขยะมูลฝอยของ กทม. ไม่สามารถเก็บขนขยะมูลฝอยได้ เนื่องจากน้ำท่วมสูง บางคันพยายามเข้าไปลุยน้ำสูงเพื่อเก็บขยะแถวบางพลัด ซึ่งสุดท้ายน้ำก็พลัดรถเหล่านั้นก็ทำให้รถเก็บขนเหล่านั้นชำรุดเสียหาย ใช้งานไม่ได้ และเสี่ยงต่อการที่เกิดน้ำชะมูลฝอยที่ถูกเก็บกักไว้ในช่องของรถเก็บขนขยะมูลฝอยรั่วไหลออกสู่แหล่งน้ำเหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกทางหนึ่ง

ผู้เขียนจึงได้คิดไว้ว่า ทำอย่างไรล่ะ ประชาชนถึงจะมีส่วนร่วมในการเก็บขนได้ด้วยตนเองได้มากขึ้น และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำถุงดำ (จากการรับบริจาคอีก) ใส่เข้าไปในถุงยังชีพที่แจกให้กับประชาชนสัก 2 ใบ แล้วดำเนินโครงการถุงดำใส่ขยะเต็มแล้วมัดให้เรียบร้อยเพื่อแลกถุงยังชีพ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกในการไม่ทิ้งขยะ ไม่ทิ้งกล่องโฟมบรรจุอาหารลงในแหล่งน้ำท่วมนั้น ๆ โดยรวบรวมขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งจากในบ้าน (และนอกบ้าน) ซึ่งจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็น อุดตันทางระบายน้ำ และคูคลองสาธารณะ ซึ่งเป็นภาระให้กับทางทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขุดลอก และทำความสะอาดทางระบายน้ำและคูคลองสาธารณะดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเป็นการลดภาระในการช่วยเก็บขยะมูลฝอยให้กับทางสำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง ซึ่งสำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องจัดหาพื้นที่สำหรับรวบรวมขยะมูลฝอยชั่วคราวก่อนที่จะขนส่งไปยังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยต่อไป

ในการแจกถุงยังชีพแลกกับถุงดำใส่ขยะเต็มนั้น จะต้องมีการประกาศประชาสัมพันธ์และแจ้งข่าวไปยังชุมชนก่อน อย่างน้อย 2-3 วัน (ตามปริมาณของที่อยู่ในถุงยังชีพนั้น ๆ ) หรือจำกัดว่าบ้านหนึ่งหลังจะได้ถุงยังชีพไม่เกิน 1-2 ถุง (แล้วแต่จำนวนสมาชิกที่อาศัยอยู่) โดยที่ผู้นำชุมชนหรือประชาชนอาจจะมีส่วนร่วมในการเก็บขยะมูลฝอยตามคูคลองสาธารณะร่วมด้วย เรือหรือรถที่แจกถุงยังชีพควรจะแยกต่างหากกับเรือหรือรถที่บรรทุกถุงดำใส่ขยะเหล่านี้ด้วย ส่วนขยะที่อยู่ในถุงดำนั้น อาจประสานให้ประชาชนที่รวบรวมขยะมูลฝอยได้โรยปูนขาวเพื่อดับกลิ่นสักเล็กน้อยหากมี ก็ยังได้ (ในกรณีที่เก็บขยะมูลฝอยอินทรีย์ ณ ที่บ้านนานเกิน 3 วัน) สำหรับกล่องโฟมที่บรรจุอาหารที่หน่วยงานกุศลต่าง ๆ ได้ร่วมกันช่วยเหลือประชาชน เช่น ช่อง 3 ฯลฯ อยากให้แจกถุงดำหรือถุงพลาสติกสำหรับบรรจุขยะกล่องโฟมพวกนี้เพื่อง่ายที่จะนำไปจัดการต่อด้วยอีกทางหนึ่ง

สิ่งที่จะได้จากการนำขยะมูลฝอยต่าง ๆ บรรจุถุงดำที่อยู่ในถุงยังชีพนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้น้ำที่ท่วมขังอยู่ไม่เน่าเสีย กล่องโฟม หรือสิ่งของที่ได้รับแจกไม่ลอยไม่อุดตันทางเดินของน้ำหรือคูคลองต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการระบายน้ำในภาพรวมแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนไม่ให้ทิ้งขยะลงในคูคลอง และเป็นการลดภาระการเก็บขนขยะมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย อย่างน้อยก็คนละครึ่งทางเมื่อเราได้รับของที่ผู้ใจบุญร่วมบริจาคมา ก็ช่วยเก็บกวาดและคืนของเหล่านั้นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยด้วย อย่าทิ้งลงในธรรมชาติเลยนะครับไม่งั้นสุดท้ายธรรมชาติก็จะเอาคืนอีกครั้ง

ปล. อยากให้ไอเดียนี้ออกช่อง 3 หรือให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำเอาไปใช้ต่อไปด้วยนะครับ

ใครก็ตามที่บ้านน้ำลดแล้ว มีคู่มือตรวจสอบบ้านหลังน้ำลดของ อาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ ซึ่งได้รับเป็นฟอร์เวิร์ดอีเมลล์มา อ่านแล้ว มีประโยชน์อย่างยิ่งนะครับ ก็ขออนุญาตอาจารย์เอามาแชร์เพื่อเป็นสิ่งดี ๆ ให้กับหลาย ๆ คนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปครับ ดาวน์โหลดได้โดย copy URL ข้างล่างนี้ไปแปะเลยครับ

http://www.mediafire.com/?nfn36hy20qkf46q