วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จัดการขยะในสภาวะน้ำท่วมกันอย่างไรดี

การจัดการขยะในสภาวะน้ำท่วม เราจะทำกันอย่างไรดี

ก่อนอื่น ต้องบอกกล่าวไว้ก่อนว่าในสภาพน้ำท่วม คงเป็นเรื่องยากในการจัดการขยะ เนื่องจากหลายแห่งรถเก็บขนขยะมูลฝอยก็ไม่สามารถเข้าถึงได้บ้าง การที่จะเอาเรือเพื่อไปขนขยะมูลฝอย ณ ช่วงเวลานี้ คงลำบาก เนื่องจากเรือเป็นสิ่งจำเป็นมากสิ่งหนึ่งสำหรับการช่วยเหลือผู้คนในช่วงน้ำท่วมดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุอุทกภัยแล้ว อาจพบว่าสถานที่กำจัดขยะถูกน้ำท่วมบ้าง หลาย ๆ คนที่ประสบเหตุอุทกภัยก็ไปอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้าง วินาทีนี้ เป็นวินาทีที่ทราบทันทีว่าหลายคนคงไม่มีกระจิตกระใจที่จะไปทำอะไรทั้งสิ้น เทศบาลหรือ อบต.เอง ก็คงวุ่นวายกับการสูบน้ำทิ้ง ทำพนังหรือแนวป้องกันมิให้น้ำท่วมพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอุทกภัยปี 54 ซึ่งจะเรียกได้ว่าประสบกันอย่างทั่วหน้า

สำหรับสถานที่ฝังกลบขยะที่ถูกน้ำท่วมไป คงจะไปทำอะไรมากได้ลำบาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างจากชุมชนพอสมควร สิ่งที่สามารถทำได้คือสร้างรั้วและทำแนวป้องกันมิให้ขยะมูลฝอยลอยออกสู่นอกพื้นที่สร้างความเดือดร้อนและสกปรกให้กับประชาชน โดย
  1. ปกติแล้วบ่อฝังกลบพวกนี้ จะมีคันดินล้อมรอบ ซึ่งจะป้องกันมิให้ขยะปลิวหรือลอยออกนอกพื้นที่ได้อยู่แล้วในตัว และหาก site ขยะไม่ใหญ่มาก ให้เอาเสาปักรอบพื้นที่ หรืออาจใช้รั้วที่มีอยู่เดิม ขึงแผ่นตาข่าย หรือ slant สัก 2-3 ชั้น ให้มีความสูงพอประมาณ ด้านล่างให้เอาอิฐบล๊อก (ไม่ควรใช้อิฐมอญ) หรือหินวางทับแผ่นตาข่าย หรือ slant ดังกล่าวเพื่อมิให้น้ำสามารถพัดขยะลอยออกสู่นอกพื้นที่เพิ่มเติม และควรเพิ่มความหนาของแผ่น slant ในทิศทางท้ายน้ำ และเหนือน้ำ หรือในบริเวณที่มีกระแสน้ำหมุนวน
  2. หาก site ขยะมีขนาดใหญ่ เทศบาลหรือ อบต. ควรมีการเตรียมการทำแนวคันดินล้อมรอบพื้นที่ป้องกันไว้ก่อน ที่จะเกิดน้ำท่วม หากพบว่าบริเวณนี้มีการเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก โดยควรทำให้สูงกว่าระดับที่เคยเกิดน้ำท่วมสูงสุดอย่างน้อยครึ่งเมตร ปลูกต้นไม้ที่มีใบหนา โตเร็ว โดยรอบ เนื่องจากใบไม้และกิ่งก้านสาขาจะช่วยดักขยะได้อีกทางหนึ่ง
  3. ดินในพื้นที่ขณะเกิดเหตุน้ำท่วมจะมีลักษณะค่อนข้างอ่อน มีน้ำอยู่ในโครงสร้างเนื้อดินปริมาณมาก ดังนั้นควรระมัดระวังหากจะนำดินที่ถูกน้ำท่วมมาก่อสร้างคันดินล้อมรอบพื้นที่ในขณะเกิดเหตุน้ำท่วม
  4. กรณีที่มีน้ำท่วมขัง อาจใช้น้ำสกัดชีวภาพฉีดพ่นได้ (แต่ไม่ควรใช้ลักษณะลูกบอลโยนลงไป) เป็นครั้งคราว กรณีที่น้ำขังจนมีสีดำสนิท ไม่สามารถดับกลิ่นได้ อาจจะต้องใช้วิธีการผันน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเจือจางได้เป็นกรณีไปหากจำเป็นจริง ๆ แต่ในกรณีปกติ ให้สูบเข้าบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่เพื่อบำบัดต่อไป (ส่วนน้ำในบ่อบำบัดน้ำเสียเดิม ส่วนใหญ่จะโดนน้ำท่วมก่อนหน้าบ่อฝังกลบขยะ ซึ่งจะมีความเจือจาง สามารถระบายทิ้งได้กรณีฉุกเฉินนี้ แล้วจึงสูบน้ำในบ่อขยะเข้าไปบำบัดในบ่อบำบัดน้ำเสียต่อไป)
  5. เทศบาลหรือ อบต. ควรสำรองเครื่องสูบหัวพญานาคไว้เป็นการชั่วคราวด้วย กรณีที่ปั๊มสูบน้ำใต้ดินเสียหายจากเหตุน้ำท่วม
  6. กลิ่นเหม็นของบ่อฝังกลบ จะต้องพิจารณาจากกลิ่นด้วยว่ากลิ่นดังกล่าว เหม็นเน่า เหม็นเปรี้ยว หรือเหม็นแบบใด เหม็นเน่า อาจจะฉีดพ่นน้ำสกัดชีวภาพได้ เหม็นเปรี้ยว จำเป็นต้องปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง เป็นต้น
กรณีเป็นพื้นที่ที่เทกองหรือกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องล่ะ ทำอย่างไร

การแก้ไขปัญหาชั่วคราว คงจะต้องดูเป็นกรณีไปว่าพื้นที่ทิ้งขยะที่ว่านั้น มีลักษณะอย่างไร หากพื้นที่ดังกล่าวเป็นลักษณะของการลักลอบทิ้ง เป็นกองขยะไม่ใหญ่มาก (ขนาดไม่ควรเกิน 2 ไร่) และความสูงไม่มาก คงจัดการได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากมีโอกาสถูกพัดกระจายค่อนข้างสูง ทางที่ดีควรดำเนินการตามข้อ 1 นั่นคือ ต้องตั้งเสา หรือเอารั้วที่มีอยู่ แล้วขึงตาข่าย หรือแผ่น slant หลายชั้นให้มีความหนาเพียงพอ เพื่อดักขยะมูลฝอยเหล่านี้ให้อยู่ภายในบริเวณสถานที่กำจัด

แล้วหากเป็นพื้นที่กำจัดแบบเทกองขนาดใหญ่ ทำไงดี อืมม์... อันนี้ยาก สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเลย คือ เทศบาลหรือ อบต. จะต้องเตรียมตัวก่อน จำเป็นต้องมีการก่อสร้างแนวคันดินรอบพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดอย่างน้อยเมตรนึง ส่วนปัญหาของมลพิษที่จะเกิดขึ้น มีแน่นอนในส่วนของน้ำผิวดินที่จะเอ่อล้นออกไปนอกพื้นที่ เนื่องจากปริมาณของขยะมูลฝอยที่มีอยู่ น้ำใต้ดินคงไม่ต้องพูดถึงเพราะมีแน่นอน เพราะว่าไม่มีการปูพื้นที่กำจัดด้วยแผ่นพลาสติก กรณีนี้ คงต้องว่ากันในส่วนของวิชาการกันอีกยากไกลว่าด้วยเรื่องการปนเปื้อนและการฟื้นฟูพื้นที่ให้เหมือนเดิม ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ส่วนการปรับปรุงพื้นที่ คงทำได้ยาก เพราะไม่ควรดำเนินการแบบเทกองอีกต่อไป

การจัดการขยะมูลฝอยในช่วงน้ำท่วม ตามศูนย์พักพิง กรณีศูนย์พักพิงอยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมเช่นกัน ทำอย่างไร
  1. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดระเบียบ เพื่อให้ผู้ที่พักอาศัยชั่วคราวตามศูนย์พักพิง แยกขยะที่เกิดขึ้น เนื่องจากว่าในกรณีน้ำท่วมนี้ การเก็บขนขยะมูลฝอยกระทำได้อย่างค่อนข้างลำบาก จำเป็นต้องมีการคัดแยกขยะเหล่านี้ออกอย่างเหมาะสม ขยะอินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ควรแยกออกมาใส่ถุงต่างหาก
  2. หากมีพื้นที่กว้างขวางพอ อาจหมักปุ๋ยในระบบปิด (ถังปิด) ได้ (โดยการเติมน้ำสกัดชีวภาพเข้าไปช่วยดับกลิ่น) และเปิดถัง กลับขยะมูลฝอยเป็นครั้งคราว ควรหมักขยะวันต่อวัน ไม่ควรทิ้งขยะอินทรีย์ลงในถังหมักขยะอินทรีย์ทุกวัน เนื่องจากจะไม่เกิดการหมักอย่างสมบูรณ์
  3. หากมีพื้นที่ไม่เพียงพอ สำหรับขยะอินทรีย์ ให้เก็บใส่ถุงดำแต่ละวัน และต้องออกห่างจากครัว ที่นอน ให้มากที่สุด พ่นน้ำยาคลอรีน โดยผสมจากผงปูนคลอรีน (Ca(OCl)2) หรือแคลเซียมไฮโปคลอไรต์ชนิด 60% โดยใช้สัดส่วนน้ำ (จากน้ำท่วม) 1 ลูกบาศก์เมตร และผงปูนคลอรีนประมาณ 4-5 กรัม ฉีดพ่น (อาจใช้ขวดฟ๊อกกี้หากมีปริมาณขยะไม่มาก โดยจะต้องระวังละอองคลอรีนเข้าตาขณะพ่นด้วย และล้างมือทุกครั้ง) ในถุงขยะอินทรีย์ให้ทั่วเพื่อป้องกันหนอน แมลงวัน ที่จะมารบกวน แล้วผูกถุงดำดังกล่าวให้แน่นและมิดชิด ซ้อนกันประมาณ 3 ชั้น วางบนภาชนะหนาอีกชั้นหนึ่ง เพราะจะมีน้ำชะขยะไหลซึมลงมาอยู่ด้านล่างของถุงดำ รอเทศบาลหรือ อบต. เข้ามานำไปจัดการต่อไป
  4. ขยะอื่น ๆ พวกโฟม ถุงพลาสติก ควรแยกต่างหาก โฟม หรือภาชนะที่บรรจุอาหารที่มีกลิ่นเหม็น มีไขมัน ควรแยกถุงบรรจุต่างหาก และทำการฉีดพ่นคลอรีนเหมือนขยะอินทรีย์ มัดถุงดังกล่าวให้แน่น รอนำไปกำจัดต่อไป ส่วนขวดน้ำพลาสติก ควรแยกต่างหาก โดยอาจนำไปแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ชูชีพแบบประยุกต์ หรืออย่างอื่นที่อาจเป็นประโยชน์ต่อไปได้
สำหรับการกำจัดขยะหลังน้ำลด ทำอย่างไร (โปรดติดตามตอนต่อไป)

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 มกราคม 2565 เวลา 20:52

    Why make money on casino games with real money? - Work
    Online Casinos with Real choegocasino Money · Online Casinos with Real Money · Make Your Money · Best Online Casino · งานออนไลน์ Online septcasino Slots · Live Casino Games.

    ตอบลบ